ฟิลเลอร์ นวัตกรรมล่าสุด และ ปัจจัยเสี่ยงของคนอยากสวย เลือกสวยอย่างถูกวิธี โดยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ DoctorNon Clinic ระยอง
ฟิลเลอร์คืออะไร ปลอดภัยกับอันตรายแยกกันอย่างไร มีคำตอบจาก นพ.วนนน ปราศมณฑิล แพทย์สมาชิกสมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยประเทศไทย (TACS) และ ผู้อำนวยการ ด็อกเตอร์ นน คลินิกเวชกรรม
ต้องยอมรับปัจจุบัน มีกระแสข่าวด้านลบเกี่ยวกับ ฟิลเลอร์ หรือ สารเติมเต็มเยอะมากๆ ถามว่าฟิลเลอร์ คืออะไร ต้องย้อนกลับไปที่ประมาณ 100 กว่าปี มนุษย์มีการคิดค้นพาราฟิน หรือ ของแข็งสีขาวโปร่งแสงที่เรานำมาใช้ทำเทียนไข โดยสามารถนำมาละลายแล้วฉีดเข้าไปให้แข็งตัวขึ้นรูปในร่างกายมนุษย์ได้
ปี 1899 แพทย์ศัลยกรรมชาวออสเตรีย ฉีดพาราฟินบริเวณถุงอัณฑะเพื่อทดแทนลูกอัณฑะในเคสที่ถูกตัดลูกอัณฑะจากวัณโรคอัณฑะ หลังจากนั้นการเติมเต็มด้วยพาราฟินก็มีความนิยมมากขึ้นและนำไปฉีดเพื่อความสวยงามโดยยังไม่ทราบผลข้างเคียงระยะยาว
หลังจากนั้นมีการพบผลข้างเคียงระยะยาวมากมาย เช่น เคสที่ฉีดพาราฟินบริเวณจมูกและละลายไหลไปกองที่คาง ผิดรูปเสียโฉม และเคสที่มีการอักเสบเรื้อรังเป็นก้อนต้องผ่าตัดออก สารเติมเต็มถาวรกลุ่มนี้ จึงลดความนิยมลง
จากนั้นในช่วงปี 1960 หรือราวๆ 60 ปีก่อน มีการพัฒนาซิลิโคนเหลว (silicone oil) เพื่อการนำมาฉีดเข้าสู่ร่างกาย แต่ก็ยังพบว่ามีผลข้างเคียงรุนแรง เช่น การอักเสบเรื้อรัง หรือการไหลของซิลิโคนไปสู่บริเวณอื่น ปัจจุบัน ซิลิโคนเหลวจึงไม่นิยมนำมาฉีดเพื่อความสวยงามเช่นกัน
แต่ซิลิโคนเหลวยังได้รับการรับรองจาก อย.อเมริกา (FDA)ในข้อบ่งชี้เรื่องการนำมาช่วยรักษาภาวะ โรคจอตาลอก(retinal detachment)
ทำให้ปัจจุบันหมอเถื่อนหลายๆ ราย ลักลอบนำซิลิโคนเหลวมาฉีดเพื่อความสวยงามในใบหน้า เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูก ปัจจุบันจึงพบผลข้างเคียงระยะยาวทั้งการเน่า และการไหลของซิลิโคนจนเสียโฉม และต้องผ่าตัดแก้ไข เราจึงเรียกสารกลุ่มพาราฟิน และ ซิลิโคนเหลวว่า สารเติมเต็มแบบถาวร (Permanent Filler)
หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการคิดค้นสารเติมเต็มแบบชั่วคราว (Temporary Filler) เป็นสารที่มีความปลอดภัยสูงขึ้น เพราะสามารถสลายตัวได้เองตามธรรมชาติ และมีผลข้างเคียงระยะยาวน้อยลงมาก
ในช่วงปี 1981 มีการนำคอลลาเจนจากวัวมาผลิตเป็นสารเติมเต็ม ซึ่งอยู่ในร่างกายได้ราวๆ ครึ่งปี แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเนื่องจากพบอาการแพ้ได้บ่อย ตัวอย่างเช่นยี่ห้อ Zyderm
และหลังจากนั้นในช่วงปี 2000 สารเติมเต็มที่ผลิตจาก ไฮยาลูโรนิค แอซิด จึงเริ่มออกสู่ตลาดและได้รับความนิยมสูง เนื่องจากอัตราการแพ้ต่ำ มีความนุ่มฟูของเจลให้เลือกหลากหลาย หากเปรียบเทียบ ไฮยาลูโรนิค แอซิด เป็นเสมือนน้ำใสๆ
ฟิลเลอร์ที่เราใช้เติมเต็มคือการนำน้ำใสๆ นี้ไปแช่ช่องฟรีซ ให้มีความแข็งขึ้นรูป และนำไปฉีดเติมเต็มริ้วรอยต่างๆ บนใบหน้า ร่างกายสามารถละลายน้ำแข็งนี้ได้หมดโดยระยะเวลาการสลายขึ้นกับปริมาณความแข็งของเจลที่แล็บผลิตขึ้น มีตั้งแต่อยู่ได้ไม่กี่เดือน จนถึง 2-3 ปี
ปัจจุบันฟิลเลอร์มีการพัฒนาขึ้นมาก อย่างตอนนี้มีมาใหม่ล่าสุดจากเยอรมัน ชื่อ ไฮยาเบล (Hyabell) เป็นสารเติมเต็มที่ปลอดภัยสลายได้แบบไม่หลงเหลือสารตกค้าง
สำหรับคำถามที่พบบ่อย ฟิลเลอร์อันตรายหรือไม่ หมอนน อธิบายว่า ประเด็นแรกคือ ฟิลเลอร์จะไหล หรือต้องผ่าออกหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าสามารถพบได้ หากฉีดด้วยสารเติมเต็มชนิดถาวรกลุ่มพาราฟินและซิลิโคนเหลว ซึ่งพบบ่อยในกลุ่มหมอกระเป๋า หรือผู้ฉีดที่ไม่ใช่แพทย์
ส่วนคำถามที่ว่า ฟิลเลอร์สามารถอุดตันหลอดเลือดจนทำให้เนื้อตาย หรือ ตาบอดได้หรือไม่ หมอนนตอบว่า พบได้ทั้งจากการเติมเต็มซิลิโคนเหลว, ไขมันตนเองและไฮยารูโลนิค แอซิด
แต่ต้องเกิดจากการฉีดยาเข้าสู่หลอดเลือด และก้อนฟิลเลอร์เข้าไปอุดตันทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงเนื้อเยื่อปลายทาง ทำให้ผิวหนังขาดเลือด หรือบางบริเวณสามารถพาฟิลเลอร์เข้าไปอุดตันเส้นเลือดจอประสาทตา ทำให้มองไม่เห็นถาวรได้หากแก้ไขไม่ทันเวลา
ในส่วนนี้จึงควรฉีดฟิลเลอร์ภายใต้แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องกายวิภาค มีเทคนิคการฉีดมาตรฐานที่ลดความเสี่ยงที่จะเข้าหลอดเลือด
ฟังข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว สาวๆที่อยากพึ่งตัวช่วยก็ต้องพิจารณาทั้งคุณภาพของฟิลเลอร์ และต้องฉีดโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เท่านั้น